พุยพุย

วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2559

บันทึกการเรียนครั้งที่ 1


บันทึกการเรียนครั้งที่ 1
วันจันทร์ ที่ 8 สิงหาคม  2559 ( 8:30 - 11:30 )

เนื้อหาที่เรียน

ความหมายของผู้ปกครอง

Summers Della,1998 กล่าวว่า ผู้ปกครอง หมายถึง พ่อหรือแม่ของบุคคล

Encyclopedia,2000 อธิบายไว้ว่า ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่เป็นพ่อหรือผู้ที่เป็นแม่ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ

1. ผู้ปกครองโดยสายเลือด

2. ผู้ปกครองโดยสังคม

พรรณิดา สันติพงษ์ (2526) ได้อธิบายว่า ผู้ปกครอง หมายถึง บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับเด็ก โดยอยู่ร่วมกันในครอบครัวเดียวกันและมีส่วนในการอบรมสั่งสอน และเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก

จินตนา ปัณฑวงศ์ (2531) ได้อธิบายว่า ผู้ปกครอง หมายถึง พ่อ แม่ หรือบุคคลอื่น อาจจะเป็นญาติมิตรหรือผู้อื่น ซึ่งพ่อแม่ไว้วางใจให้ทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดูตลอดจนให้การศึกษาแก่เด็ก

สรุปได้ว่า ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่เป็นบิดา มารดา หรือบุคคลอื่นที่ให้การอบรมเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่เด็กที่อยู่ในการดูแล ดังนั้นในการกล่าวถึงผู้ปกครองจึงมีความหมายรวมถึงบุคคลที่เป็นพ่อและแม่ด้วย

ความสำคัญของผู้ปกครอง

Lee Center and Marlene Center,1992 ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุดต่อชีวิตของเด็ก ความรักและความอบอุ่นจากผู้ปกครองเป็นความต้องการของเด็กทุกคน ผู้ปกครองจึงเป็นบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ของเด็ก 

Pestalozzi ได้กล่าวถึง ความสำคัญของพ่อแม่ ผู้ปกครองว่า ความรักของพ่อแม่เป็นพลังสำคัญในการเจริญเติบโตของเด็ก ความรักที่ประกอบด้วยเหตุผลและความมุ่งมั่นที่จะปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้แก่เด็กเป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ฉันทนา ภาคบงกช (2531) กล่าวว่า ผู้ปกครองเป็นบุคคลที่สำคัญในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดสามารถที่จะตองสนองความต้องการพื้นฐานของเด็ก ได้แก่ ความต้องการในการดำรงชีวิต ความต้องการความรักความอบอุ่น นอกจากนี้เด็กยังได้อิทธิพลจากสภาพแวดล้อมภายในครอบครัว เด็กจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูจากบ้านเป็นสำคัญ คุณภาพของเด็กมีผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองเป็นอย่างมาก

บทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครอง

ภารกิจของพ่อแม่ ผู้ปกครอง คือ การอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กที่ครอบคลุมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา บทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเด็กมี 3 ประการ คือ

1. เป็นผู้ให้การเลี้ยงดูเพื่อสร้างเสริมสุขภาพกายและใจที่ดีให้กับเด็ก

2. เป็นผู้ให้การศึกษาเบื้องต้น

3. เป็นผู้ส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา

บทบาทและหน้าที่ด้านการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้

การศึกษา ทำความเข้าใจและแสวงหาประสบการณ์ว่าเด็กในแต่ละวันมีพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างไร พ่อแม่ ผู้ปกครอง สามารถส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้ลูกได้อย่างถูกวิธี ดังนี้

1. ช่วยจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับกิจกรรมที่โรงเรียน

2. ส่งเสริมให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงให้มาก

3. สนทนาให้ความเป็นกันเองกับเด็ก ป้อนคำถามให้เด็กได้คิดหาคำตอบ

4. ชมเชยเมื่อเด็กทำความดี ทำได้ถูกต้อง ในขณะที่ทำผิดก็ต้องชี้แจงให้เด็กเข้าใจให้ถูกต้องก่อนที่เด็กจะจำวิธีการผิดๆ ไปใช้ 

5. ให้เด็กมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ช่วยเหลืองานในบ้านที่เหมาะสมกับวัย

6. ให้อิสระแก่เด็กบ้างในบางโอกาส

7. สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดปัญญา

8. คอยติดตามการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก โดยไม่เข้มงวดกวดขันจนเกินไป

9. ติดต่อกับครูของเด็กเพื่อรับทราบปัญหาและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาก่อนที่จะสายเกินแก้

บทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา

การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มนุษย์กับการศึกษาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันตลอดชีวิต พ่อแม่ ผู้ปกครองถือเป็นบุคคลแรกที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่เด็กในแนวทางที่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กดังนี้

1. ความอุทิศตน ในการมีเวลาให้กับลูกอย่างเต็มที่

2. มีจุดมุ่งหมายสูงส่งเพื่อลูก

3. ช่างสังเกตถี่ถ้วน

4. ใช้สามัญสำนึกในการเลี้ยงลูก
 
5. ปลูกฝังวินัย ความเป็นไทย

สรุปบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครอง 10 ประการ

1. ให้ความรักและสายสัมพันธ์ในครอบครัว

2. ให้ความเอาใจใส่และเอื้ออาทรต่อลูก

3. ทำตนให้เป็นแบบที่ดีแก่ลูก

4. ให้ประสบการณ์การเรียนรู้ในสังคมเกี่ยวกับการปฏิบัติตน

5. ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้เป็นไปตามวัย

6. ให้หลักธรรมในการพัฒนาเด็กด้วยหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา)

7. ส่งเสริมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย

8. ศึกษาการเจริญเติบโตของเด็ก

9. เอาใจใส่ดูแลสุขภาพ 

10. สนับสนุนเตรียมความพร้อมก่อนสู่สังคม

การประยุกต์ใช้

สามารถนำไปเผยแพร่ หรือให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้าใจถึงหลักการอย่างแท้จริง


การประเมิน

ประเมินอาจารย์    100 %

ประเมินตนเอง    100 %

ประเมินเพื่อน    100 %


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น